หน้าเว็บ

25 พฤศจิกายน 2554

เตือน"บารากู่"พิษร้าย รุนแรงกว่าบุหรี่ถึง 6 เท่า

เตือน"บารากู่"พิษร้าย รุนแรงกว่าบุหรี่ถึง 6 เท่า



น.ส.ศรีรัช ลาภใหญ่ อาจารย์ประจำสาขาสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
กล่าวถึงการศึกษากลยุทธ์การตลาดของยาสูบประเภท “บารากู่” และพฤติกรรมการบริโภคบารากู่
ในกลุ่มเยาวชน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
(สสส.) ว่า ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมกลุ่มตัวอย่างระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย-อุดมศึกษา
จำนวน 783 ราย พบว่า เยาวชนร้อยละ 81 รู้จักว่าบารากู่ คืออะไร โดยร้อยละ 34 สูบบารากู่
เป็นประจำและเป็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เยาวชนร้อยละ 57 รู้จักบารากู่จากร้านสุรา สอดคล้อง
กับผลการสำรวจที่ชี้ว่า สถานที่ที่วัยรุ่นนิยมสูบบารากู่มากที่สุดคือ ร้านเหล้า รองลงมา คือ
ร้านเหล้าปั่น และหอพัก นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มเยาวชนที่นับถือศาสนาอิสลามมีการสูบบารากู่
เช่นกัน และเริ่มสูบตั้งแต่อายุยังน้อยคือ พบว่า เริ่มที่อายุ 12 ปี เยาวชนมุสลิมมีอัตราการสูบ
บารากู่มากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งต้องเร่งทำความเข้าใจถึงอันตรายต่อไปกับกลุ่มเสี่ยงนี้

"พบว่าบารากู่ และบุหรี่ปรุงรส หาซื้อได้ง่าย แม้แต่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่กฎหมายห้าม
จำหน่าย กว่าครึ่งหนึ่งยังสามารถซื้อได้ โดยร้อยละ 90 ยอมรับว่าบารากู่เป็นสารที่วัยรุ่นชอบลอง
มีเพื่อนเป็นผู้ชักชวน โดยเฉลี่ยวัยรุ่นที่สูบบารากู่จะสูบสัปดาห์ละครั้ง มีร้อยละ 32.3 ที่มีอุปกรณ์
ประกอบการสูบเป็นของตนเอง สามารถหาซื้ออุปกรณ์ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นในตลาดนัดกลางคืน
แหล่ง ช้อปปิ้งชื่อดังหลายแห่ง แผงลอย ร้านตามตลาดนัดสุดสัปดาห์ ร้านขายส่ง และอินเตอร์เน็ต
ที่น่าเป็นห่วงคือ หอพักที่อยู่ใกล้สถานศึกษา จะมีบริการส่งชุดสูบบารากู่ถึงห้องพัก และยังพบว่า
การขายเตาบารากู่ได้ระบาดไปถึงในห้างสรรพสินค้าประเภทดิสเคาน์สโตร์ที่เปิดแผงลอยให้ผู้ค้า
ภายนอกเข้ามาทำการค้าด้วย" น.ส.ศรีรัช กล่าว

น.ส.ศรีรัช กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบารากู่ เพราะกลุ่มตัวอย่างร้อยละ
47 เห็นว่าการสูบบารากู่นั้นจะไม่ทำให้เสพติด กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62 เชื่อว่าการสูบทำให้เกิด
ความสุข ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44 เชื่อว่าบารากู่เป็นสมุนไพร กลุ่มตัวอย่าง
ร้อยละ 56 เชื่อว่ามีพิษน้อยมากหากเทียบกับบุหรี่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66 เชื่อว่า บารากู่ เป็น
วัฒนธรรมอาหรับเก่าแก่ที่ไม่มีอันตราย ที่สำคัญ คือ ผู้หญิง จะมีทัศนคติด้านบวกและไม่กลัวที่
จะลองสูบ เนื่องจากมีรสผลไม้ กลิ่นหอม รสหวาน และเชื่อว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ รวมทั้งผู้หญิง
เชื่อว่าการสูบบารากู่จะทำให้ผู้หญิงมีภาพลักษณ์ดีกว่าผู้หญิงสูบบุหรี่ ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิด
เพราะยาสูบบารากู่มีพิษภัยกว่าบุหรี่ถึง 6 เท่า หากสูบทุกวันจะเท่ากับสูบบุหรี่วันละ 10 มวน หาก
สูบเป็นครั้งคราวจะเท่ากับสูบครั้งละ 2 มวน ซึ่งบารากู่ คือ ยาสูบชนิดหนึ่งซึ่งทำให้เกิดการเสพติดได้

น.ส.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
กล่าวว่า บารากู่ ถือเป็นยาสูบที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ แต่ยังไม่
มีการควบคุมการขาย ยาสูบ เครื่องสูบ ประเภทดังกล่าว ทำให้มีการขายอย่างเสรีในหลายที่
รวมทั้งผับ บาร์ ที่ยังลักลอบจำหน่าย

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: